วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเขียนเพื่องานประชาสัมพันธ์






หลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์                การ ประชาสัมพันธ์ คือ การจัดการสื่อสารอย่างมีแผนขององค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อให้สาธารณชน เกิดการรับรู้ เข้าใจ ยอมรับ ร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายของการประชาสัมพันธ์ คือ 1) เกิดความรู้ ความเข้าใจ 2) เกิดทัศนคติที่ดี มีการยอมรับ และ    3)ให้ความร่วมมือและสนับสนุน
                บทบาทการประชาสัมพันธ์ คือ เพื่อการบริหารจัดการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และเพื่อส่งเสริมตลาด
                การเขียน เป็นกิจกรรมที่นักประชาสัมพันธ์ทุกคนควรมีทักษะอย่างสูง เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการผลิตสารสำหรับสื่อทุกประเภทที่ใช้ในการประชา สัมพันธ์
                การเขียน คือการถ่ายทอดความรู้สึก ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ ข่าวสาร โดยใช้ตัวหนังสือ และเครื่องหมายต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เนื้อหา ภาษา และรูปแบบ               
                การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์
 มีวัตถุประสงค์ในการเขียน 5 รูปแบบ คือ 
                1.             เขียนเพื่อบอกกล่าวให้เข้าใจ
                2.             เขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
                3.             เขียนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
                4.             เขียนเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด
                5.             เขียนเพื่อให้เกิดการยอมรับ
               กระบวนการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 
               ขั้นการวางแผนก่อนการเขียน ได้แก่ การศึกษาวัตถุประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์ขององค์กร ศึกษาวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ ศึกษาสื่อที่จะใช้ และการกำหนดรูปแบบการเสนอเรื่อง หรือกำหนดโครงเรื่อง
              ขั้นลงมือเขียน  ต้องคำนึงถึง หลักการเขียน รูปแบบการเขียนเฉพาะอย่าง และศึกษาคุณสมบัติของงานเขียนที่ดี
                ขั้นแก้ไขปรับปรุงงานเขียน คือ การแก้ไขรูปแบบการเขียน และพิจารณาภาพรวมของข้อเขียนทั้งหมด
                การเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร ภาพลักษณ์ คือ ภาพในความนึกคิด หรือในจิตใจ โดยเกิดจากความประทับใจที่ได้รับรู้ และรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทั้งภาพทางบวก หรือทางลบก็ได้ โดยต้องสอดคล้องไปกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ ขององค์กร
                 ดังนั้น การเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร จึงต้องนำพันธกิจ และวิสัยทัศน์ ขององค์กรหรือหน่วยงานมาเขียนเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่พึงประสงค์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายขององค์กร เกิดความรู้สึก หรือความนึกคิดในสมองทันทีเมื่อได้ยินชื่อองค์กร
                ทั้งนี้ ในการเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร ต้องมีเหตุผลสนับสนุน ความเป็นไปได้จริงในการสร้างภาพลักษณ์องค์กร เช่น การเขียนภาพลักษณ์ของกรมปศุสัตว์
                ภาพลักษณ์ของกรมปศุสัตว์ที่พึงประสงค์ให้เกิดความคิดของลูกค้า หรือผู้ติดต่อรับบริการ คือ กรมปศุสัตว์ เป็นองค์กรที่มุ่งมั่น ส่งเสริม และสนับสนุนการปศุสัตว์ไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ  เกิดความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและตลาดโลก
                เหตุผลสนับสนุน คือ  กรมปศุสัตว์มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน เช่น งานด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล  ด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์โดยเฉพาะ ด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านการบริหารและการจัดการองค์กรที่ครอบคลุมโดยมีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่ว ประเทศ และตามด่านชายแดนระหว่างประเทศ ตลอดจน ด้านเครือข่ายองค์กรปศุสัตว์ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น