วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเขียนเพื่องานประชาสัมพันธ์






หลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์                การ ประชาสัมพันธ์ คือ การจัดการสื่อสารอย่างมีแผนขององค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อให้สาธารณชน เกิดการรับรู้ เข้าใจ ยอมรับ ร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายของการประชาสัมพันธ์ คือ 1) เกิดความรู้ ความเข้าใจ 2) เกิดทัศนคติที่ดี มีการยอมรับ และ    3)ให้ความร่วมมือและสนับสนุน
                บทบาทการประชาสัมพันธ์ คือ เพื่อการบริหารจัดการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และเพื่อส่งเสริมตลาด
                การเขียน เป็นกิจกรรมที่นักประชาสัมพันธ์ทุกคนควรมีทักษะอย่างสูง เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการผลิตสารสำหรับสื่อทุกประเภทที่ใช้ในการประชา สัมพันธ์
                การเขียน คือการถ่ายทอดความรู้สึก ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ ข่าวสาร โดยใช้ตัวหนังสือ และเครื่องหมายต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เนื้อหา ภาษา และรูปแบบ               
                การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์
 มีวัตถุประสงค์ในการเขียน 5 รูปแบบ คือ 
                1.             เขียนเพื่อบอกกล่าวให้เข้าใจ
                2.             เขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
                3.             เขียนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
                4.             เขียนเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด
                5.             เขียนเพื่อให้เกิดการยอมรับ
               กระบวนการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 
               ขั้นการวางแผนก่อนการเขียน ได้แก่ การศึกษาวัตถุประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์ขององค์กร ศึกษาวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ ศึกษาสื่อที่จะใช้ และการกำหนดรูปแบบการเสนอเรื่อง หรือกำหนดโครงเรื่อง
              ขั้นลงมือเขียน  ต้องคำนึงถึง หลักการเขียน รูปแบบการเขียนเฉพาะอย่าง และศึกษาคุณสมบัติของงานเขียนที่ดี
                ขั้นแก้ไขปรับปรุงงานเขียน คือ การแก้ไขรูปแบบการเขียน และพิจารณาภาพรวมของข้อเขียนทั้งหมด
                การเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร ภาพลักษณ์ คือ ภาพในความนึกคิด หรือในจิตใจ โดยเกิดจากความประทับใจที่ได้รับรู้ และรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทั้งภาพทางบวก หรือทางลบก็ได้ โดยต้องสอดคล้องไปกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ ขององค์กร
                 ดังนั้น การเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร จึงต้องนำพันธกิจ และวิสัยทัศน์ ขององค์กรหรือหน่วยงานมาเขียนเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่พึงประสงค์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายขององค์กร เกิดความรู้สึก หรือความนึกคิดในสมองทันทีเมื่อได้ยินชื่อองค์กร
                ทั้งนี้ ในการเขียนภาพลักษณ์ขององค์กร ต้องมีเหตุผลสนับสนุน ความเป็นไปได้จริงในการสร้างภาพลักษณ์องค์กร เช่น การเขียนภาพลักษณ์ของกรมปศุสัตว์
                ภาพลักษณ์ของกรมปศุสัตว์ที่พึงประสงค์ให้เกิดความคิดของลูกค้า หรือผู้ติดต่อรับบริการ คือ กรมปศุสัตว์ เป็นองค์กรที่มุ่งมั่น ส่งเสริม และสนับสนุนการปศุสัตว์ไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ  เกิดความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและตลาดโลก
                เหตุผลสนับสนุน คือ  กรมปศุสัตว์มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน เช่น งานด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล  ด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์โดยเฉพาะ ด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านการบริหารและการจัดการองค์กรที่ครอบคลุมโดยมีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่ว ประเทศ และตามด่านชายแดนระหว่างประเทศ ตลอดจน ด้านเครือข่ายองค์กรปศุสัตว์ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เป็นต้น 

ขั้นตอนการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์





ขั้นตอนการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
ในการเขียนงานเขียนต่าง ๆ และการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถดำเนินการ 7 ขั้นตอน ตามลำดับ (นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และคณะ, 2532, หน้า 13 - 19) ดังนี้ 
1.  การเลือกเรื่องที่จะเขียน
       การเลือกเรื่อง ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.1 เลือกเรื่องที่ตนเองและคนส่วนใหญ่กำลังสนใจ ทันสมัย ทันเหตุการณ์
1.2 เลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้ มีประสบการณ์ ตลอดจนเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการ
เขียน เพื่อเสนอความคิดเห็นแก่ผู้รับสาร
1.3 เลือกเรื่องที่ผู้เขียนสามารถหาแหล่งค้นคว้า หรือหาข้อมูลมาเขียนได้
1.4 เลือกเรื่องที่มีความยาว ความยาก ความง่าย พอเหมาะกับความสามารถของ
ผู้เขียน รวมทั้งเลือกให้เหมาะสมกับเวลาที่ได้รับมอบหมาย เหมาะสมกับจำนวนหน้ากระดาษ และเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่ผู้เขียนสังกัด
2. กำหนดจุดมุ่งหมายในการเขียน 
 ผู้เขียนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนบทความครั้งนี้เพื่ออะไร และเขียนให้ใครอ่าน เช่น ให้ความรู้ เสนอความเห็น โน้มน้าวใจ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เขียนให้ใครอ่าน เช่น กลุ่มมวลชน กลุ่มผู้มีการศึกษาสูง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เป็นต้น
3.  กำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นเรื่อง 
      ผู้เขียนต้องกำหนดว่าบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้จะเสนอแนวคิดสำคัญ หรือมีแก่นเรื่องอะไรให้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดถ้อยคำ ประโยคต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น
4.  ประมวลความรู้ความคิด 
ก่อนเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ ผู้เขียนจะต้องรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นรายละเอียดในการเขียน โดยการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลให้เพียงพอที่จะเขียน  ซึ่งข้อมูลสามารถหาได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากการสัมภาษณ์ การซักถามสอบถามผู้รู้ จากการสืบเสาะว่าที่ใดมีอะไรบ้าง ไปดูสถานที่ ไปพบบุคคล ไปดูเหตุการณ์ ดูการกระทำ จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ จากหนังสือต่าง ๆ จากบุคคลต่าง ๆ โดยเริ่มจากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรา จากการเดินทางท่องเที่ยว จากปฏิทินในรอบปี ซึ่งมีเทศกาลมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่พระราชพิธีจนถึงงานต่าง ๆ จากวงการและสถาบันต่าง ๆ และจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
5. วางโครงเรื่อง 
     การวางโครงเรื่อง คือ การกำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญแยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ อะไร จะมีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้ง่าย และเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่สับสน วกวน และไม่เขียนออกนอกเรื่อง
6.  การเขียน
      เมื่อได้โครงเรื่องแล้ว จะต้องลงมือเขียน ดังนี้
                                6.1 เขียนขยายความให้ข้อมูลในแต่ละประเด็น มีการอธิบาย ยกเหตุผลประกอบ ข้อมูลประกอบอาจเป็นสถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ ตำนาน นิทาน เป็นต้น
                                6.2 เขียนคำนำและสรุปด้วยกลวิธีที่เหมาะสมกับประเภทของเนื้อหาบทความ
                                6.3 การใช้ภาษาควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของการเขียน และประเภทของบทความ
                                6.4 ควรสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว ซึ่งสามารถสร้างลีลาการเขียนได้หลายวิธี เช่น สร้างโดยการเลือกใช้ภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ การเล่นคารมโวหาร การเขียนแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน หรือมีการสร้างคำใหม่ ๆ มาใช้อยู่เสมอ ๆ เป็นต้น
7. การตรวจทาน
    เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ถ้ามีเวลาเพียงพอ อาจเก็บไว้สักสองสามวัน แล้วนำมาอ่านตรวจทาน พิจารณาอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาทางทำให้ดีขึ้น หรือให้ผู้รู้อ่านวิจารณ์ด้วย เพื่อจะได้นำความคิดเห็นนั้นมาปรับปรุง บทความจะได้สมบูรณ์มากขึ้น

โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์






โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ ชื่อเรื่อง  คำนำ  เนื้อเรื่อง และสรุป   
1. ชื่อเรื่อง
 ชื่อเรื่องนับว่าเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะอ่านก่อนเสมอ ดังนั้นจะต้องเลือกคำ หรือข้อความ ที่สามารถคุมประเด็นให้ดีที่สุด ชวนให้อยากอ่านเนื้อหาในบทความนั้น ๆ
วิธีตั้งชื่อเรื่องของบทความมีหลายแบบ เช่น การตั้งชื่อเรื่องตามเนื้อหาสาระ  การตั้งชื่อเรื่องเป็นคำถาม การตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำที่มีความหมายขัดแย้ง การตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำพังเพย สุภาษิต คำคล้องจอง และการตั้งชื่อเรื่องทำนองชักชวนให้ปฏิบัติตาม เป็นต้น
2. คำนำ
 คำนำเป็นการเกริ่นบอกกล่าวให้รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร การขึ้นคำนำอาจจะกล่าวถึงเรื่องทั่วไปก่อนที่จะวกเข้าเรื่องที่จะเขียน หรืออาจจะกล่าวเจาะจงลงไปตรงกับหัวเรื่องที่จะเขียนเลยทีเดียวก็ได้ การเขียนคำนำ ต้องให้น่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านนิยมอ่านย่อหน้าแรกก่อน ถ้าเขียนคำนำได้น่าอ่าน ย่อมจะชวนให้ติดตามอ่านจนจบ
 คำนำเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดส่วนหนึ่ง กล่าวคือ คำนำเป็นส่วนที่อยู่ตอนต้นเรื่อง แต่ถ้าเขียนได้แล้วก็จะช่วยให้เขียนเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ คำนำยังเป็นส่วนแรกของการเขียน จึงถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการจูงใจผู้อ่านให้ติดตามเรื่องต่อไปจนจบได้ถ้าผู้เขียนเขียนคำนำได้ดี วิธีการเขียนคำนำมีหลายแบบ เช่น
2. 1 นำด้วยข่าว คำนำที่นำด้วยข่าว เป็นความนำที่ใช้กับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความคิดในเรื่องที่จะเขียน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการนำเหตุการณ์ที่กำลังเป็นสิ่งที่น่าสนใจในขณะนั้นมานำก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่จะเขียน
2.2 นำด้วยการอธิบาย คำนำที่นำด้วยการอธิบาย เป็นการนำด้วยการเริ่มเรื่องอย่างตรงไปตรงมา โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของเรื่องให้ผู้อ่านได้รู้ทันทีว่าผู้เขียนต้องการเสนอสาระเรื่องใดแก่ผู้อ่าน
2.3 นำด้วยคำถาม  คำนำด้วยคำถามเป็นความนำที่หยิบถ้อยความเพื่อกระตุ้นผู้อ่าน โดยใช้วิธีการตั้งคำถาม เช่น " คุณรู้ไหมว่าเจ้าดอกไม้สีขาวดอกเล็ก ๆ  ที่มีเกสรสีเหลืองสดใสนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว"  (รักลูก, 2546, หน้า 9)
2.4 นำด้วยการสรุปใจความสำคัญของเรื่อง การนำใจความสำคัญของเรื่องมาสรุปประเด็นสำคัญไว้ในส่วนคำนำจะทำให้ผู้อ่านทราบทันทีว่าผู้เขียนจะกล่าวถึงเรื่องอะไรในส่วนของเนื้อหาต่อไป
2.5 นำด้วยสุภาษิต คำคม บทกวี การนำสุภาษิต คำคม บทกวี มาใช้เป็นคำนำ จะต้องเลือกสุภาษิต คำคม บทกวี ที่มีความหมายสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
3. เนื้อเรื่อง
 เนื้อเรื่องอาจแบ่งเป็น  2  ส่วนใหญ่ ๆ  คือ  ส่วนแรกเป็นการขยายความเมื่อเกริ่นในคำนำแล้วผู้อ่านยังติดตามความคิดได้ไม่ดีพอก็ต้องขยายความออกไป เพื่อช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น ส่วนที่สองเป็นรายละเอียด มีการให้สถิติ รวบรวมข้อมูล การเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างประกอบ แต่ต้องระวัง อย่าให้มากเกินไปจนน่าเบื่อ
  การเขียนเนื้อเรื่อง  เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นส่วนที่ยาวที่สุด รวมความคิดและข้อมูลทั้งหมด ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในเนื้อเรื่องจะต้องสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน มีลำดับขั้นตอนไม่วกวนไปมา ก่อนที่จะเขียนบทความผู้เขียนจึงต้องหาข้อมูล หาความรู้ที่จะนำมาเขียนเสียก่อน การหาข้อมูลนั้นอาจได้จากการสัมภาษณ์ การสอบถามผู้รู้ การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านหนังสือพิมพ์หรือหนังสือต่าง ๆ ในการเขียนเนื้อเรื่องควรคำนึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
 3.1 ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามความหมาย ใช้ตัวสะกดถูกต้องตามพจนานุกรม
 3.2 ใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเรื่อง เช่น ใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการ ใช้ศัพท์เฉพาะในการเขียนบทความทางวิชาการ ใช้ถ้อยคำที่ดึงเป็นภาษาปาก คำแสลง ในการเขียนบทความทั่วไป
 3.3 มีข้อมูล เหตุผล สถิติและการอ้างอิงประกอบเรื่อง เพื่อให้เรื่องอ่านเข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือ
4. สรุป
     สรุปเป็นส่วนที่แสดงทัศนะข้อคิดเห็นของผู้เขียน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่มีด้วย   การเขียนบทความในส่วนสรุปหรือคำลงท้ายจึงเป็นส่วนที่ผู้เขียนต้องการบอกให้ผู้อื่นทราบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เสนอมาได้จบลงแล้ว ผู้เขียนควรมีกลวิธีที่จะทำให้ผู้อ่านพอใจ ประทับใจ ส่วนสรุปนี้เป็นส่วนที่ฝากความคิดและปัญหาไว้กับผู้อ่านหลังจากที่อ่านแล้ว การเขียนสรุปหรือคำลงท้ายมีหลายแบบ เช่น สรุปด้วยคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบ
สรุปด้วยการแสดงความประสงค์ของผู้เขียน สรุปด้วยใจความสำคัญ สรุปด้วยการใช้คำกล่าว คำคม บทกวี และสรุปด้วยการเล่นคำ เป็นต้น
 การใช้ภาษาในการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
การใช้ภาษาในการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.  ระดับภาษา
การเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ควรพิจารณาใช้ระดับภาษาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ ภาษาปาก ภาษาไม่เป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ และภาษาทางการ โดยผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ประเภทของบทความ เนื้อหา และกลุ่มผู้อ่านเช่น กรณีที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป  บทความวิเคราะห์ข่าว  บทความวิเคราะห์ ควรใช้
ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ จนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนระดับกึ่งทางการ หากมีบางตอนหรือบางข้อความที่ต้องการแสดงอารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม อย่างชัดเจน อาจจะใช้ภาษาพูดระดับภาษาปาก ที่ไม่หยาบคายก็ได้
กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป บทความสารคดีท่องเที่ยว ควรใช้ภาษาพูดในระดับภาษาปาก เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองกับผู้อ่าน จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำ หรืออาจจะใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทความ และกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย
กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ ควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์ และเรื่องราวที่สัมภาษณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนจึงสามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตั้งแต่ ภาษาพูดระดับภาษาปาก จนถึงภาษาเขียนระดับทางการ
กรณีเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ ซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่งานวรรณกรรมหรือศิลปะ จึงควรใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ จนถึงภาษาในระดับทางการ
กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ และเชิงวิชาการ ควรใช้ภาษาเขียนกึ่งทางการจนถึงระดับทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนต้องการสร้างเอกลักษณ์ หรือลีลาการเขียนเฉพาะตน ก็สามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตามความต้องการของตนเอง โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเป็นหลักด้วย เช่น ภาษาที่เป็นระดับทางการจะสร้างความรู้สึกน่าเชื่อถือ เป็นงานเป็นการ แต่ภาษาปาก และภาษาระดับที่ไม่เป็นทางการจะให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ใกล้ชิด สนิทสนมเป็นกันเอง แต่อาจดูไม่ค่อยสุภาพได้ เป็นต้น 
2.  โวหาร
  กรณีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา ควรใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก โดยมีโวหารอื่น ๆ ประกอบ เช่น อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น เพื่อแสดงเหตุผลโน้มน้าวใจผู้อ่าน
 กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก และมีโวหารอื่น ๆ ประกอบ ได้แก่ สาธกโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจน แจ่มแจ้ง
 กรณีเขียนบทความสารคดีท่องเที่ยว บางตอนควรเลือกใช้พรรณนาโวหาร เพื่อให้เห็นความงดงามของทัศนียภาพ นอกเหนือจากการใช้บรรยายโวหารแล้ว ควรใช้โวหารอื่น ๆ ประกอบได้แก่ อุปมาโวหาร สาธกโวหาร กรณีที่ต้องการเล่าเกร็ดความรู้ ตำนาน นิทานต่าง ๆ ประกอบสถานที่ เป็นต้น
 กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ บทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ  บทความวิชาการ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบอื่นที่ควรนำมาใช้ คือ สาธกโวหาร
   กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบอื่น ๆ ได้แก่ เทศนาโวหาร อุปมาโวหาร และสาธกโวหาร
3. ภาพพจน์
  การเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ หากต้องการสร้างอรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนอาจจะต้องเลือกนำการใช้ภาพพจน์มาเพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิดและจินตนาการ ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน
 ภาพพจน์ (Figure of speech) คือ สำนวนภาษารูปแบบหนึ่งเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำนวนเปรียบเทียบ เกิดจากการเปรียบเทียบของถ้อยคำด้วยวิธีการต่างๆ ให้ผิดแผกไปจากการเรียงลำดับคำ หรือความหมายตามปรกติ เพื่อให้เกิดภาพ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 616) หรือให้มีความหมายโดยนัย หรืออาจเป็นการใช้ภาษาเชิงเปรียบเทียบ โดยนำสิ่งที่ไม่เหมือนกันมาเปรียบเทียบกันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อมุ่งให้เกิดรสของถ้อยความเป็นสำคัญ
                            การใช้ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม
   ภาพพจน์ที่นิยมนำมาใช้ในงานเขียนต่าง ๆ เช่น
  3.1 อุปมา คือ การนำของ 2 สิ่ง หรือความคิด 2 อย่างมาวางเทียบกัน แล้วเชื่อมด้วยคำประเภทที่มีความหมายว่า "เหมือน" หรือ "ใกล้เคียง" เช่น เหมือน คล้าย เท่า เทียม เทียบ ทาน พาง ฟาง เพียง เพี้ยง เล่ห์ ประเหล ดุจ ประดุจ ถนัด หนึ่ง ประหนึ่ง ดัง ดั่ง เฉก เช่น ฉัน เปรียบ ปาน ปูน ราว (กับ) กล (กะ) เยี่ยง อย่าง อย่างกับ (ยังกับ) ฉันใด...ฉันนั้น อย่างไร...อย่างนั้น รวมทั้งคำว่า กว่า ด้วย หรือนำคำเชื่อมจำพวกนี้มาซ้อนกัน เช่น คนอะไรตัวใหญ่อย่างกับช้าง หรือ เธอตัวเล็กกว่าภูเขานิดเดียว เป็นต้น
   3.2 อุปลักษณ์ คือ ภาพพจน์ที่นำเอาสิ่งที่ต่างกัน 2 สิ่งหรือมากกว่า แต่มีคุณสมบัติบางประการร่วมกัน มาเปรียบเทียบกัน โดยเปรียบว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งโดยตรง อีกนัยหนึ่งคือการเปรียบโดยนัยโดยใช้คำว่า เป็น หรือ คือ ที่ไม่ได้แสดงนิยม และไม่ได้แปลว่า "เหมือน" อย่างในข้อ 3.1 มาเชื่อม เช่น ลูกเป็นแก้วตาดวงใจของเขา หรือเธอคือแสงสว่างในชีวิตฉัน  เป็นต้น
3.3 ปฏิภาคพจน์ หรือ ปฏิทรรศน์ คือ คำกล่าวที่มองอย่างผิวเผินแล้วจะขัดกันเองหรือไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเป็นคำกล่าวที่มีความหมายลึกซึ้งและเป็นไปได้  ปฏิทรรศน์มักอยู่ในรูปของประโยคหรือข้อความที่แสดงความขัดแย้งกัน อย่างเมื่อเหตุการณ์หนึ่งแล้วก่อให้เกิดอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แย้งกัน เช่น น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย ยิ่งเร่งยิ่งช้า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ หรือศัตรูคือยากำลัง เป็นต้น
3.4 อติพจน์ คือ คือการกล่าวเกินจริงเพื่อเน้นความรู้สึก บางตำราเรียกว่า overstatement กล่าวว่า อติพจน์ คือ ภาพพจน์ซึ่งมีข้อความที่กล่าวให้เกินจริงสำหรับเน้นข้อความ อีกนัยหนึ่งคือการกล่าวเปรียบเทียบโดยใช้ถ้อยคำเกินจริง เป็นการเน้นให้เกิดความรู้สึก ในภาษาไทยนิยมใช้กันมากทั้งในภาษาวรรณคดีและภาษาปาก จนเกิดเป็นสำนวนทั้งเก่าและใหม่ที่ใช้กันจนติดปากในชีวิตประจำวัน เช่น คอยตั้งโกฏิปี คุยกันด้วยเรื่องร้อยแปด ชาติหน้าตอนบ่ายๆ เที่ยวร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ นั่งจนรากงอก รักเท่าฟ้า ยิงกันหูดับตับไหม้ และหิวไส้จะขาด เป็นต้น
   3.5 นามนัย หรืออธินามนัย กล่าวว่า คือ ภาพพจน์ที่ใช้คำหรือสิ่งซึ่งบ่งคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทนสิ่งนั้น ทั้งหมดแต่โดยทั่วไปนามนัยมีความหมายมากกว่านั้น และใช้หมายถึงภาพพจน์ที่สิ่งหนึ่งถูกเรียกด้วยชื่อของอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงหรือ ชวนให้คิดถึงต่อไปนี้ เช่น มืออ่อน มือแข็ง (มือแทนการไหว้) ลิ้นแข็ง (ลิ้นแทนภาษา) ลูกหนัง (ลูกฟุตบอล) หรือ ลูกสักหลาด (ลูกเทนนิส) เป็นต้น
   3.6 สัญลักษณ์ อาจหมายถึงภาพพจน์หรือไม่ใช่ก็ได้ สัญลักษณ์ที่เห็นกันส่วนใหญ่มักเป็นภาพหรือเครื่องหมายที่แสดงไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น เครื่องหมายจราจร สัญลักษณ์แบบนี้ไม่ใช่ภาพพจน์
สัญลักษณ์ในความหมายที่เป็นภาพพจน์ คือภาพพจน์ชนิดหนึ่งที่มีความคลี่คลายมาจากนามนัย ซึ่งเมื่อใช้กันจนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็กลายเป็นสัญลักษณ์ กล่าวว่า สัญลักษณ์คือ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตซึ่งเป็นตัวแทนหรือสิ่งแทนของอีกสิ่งหนึ่ง โดยอีกสิ่งหนึ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือความคิดที่เป็นนามธรรมก็ได้
                สัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปมีมากมาย บางครั้งก็มีความหมายเป็นกลางรับรู้กันทั่วโลก บางครั้งก็รับรู้กันเฉพาะในสังคมใดสังคมหนึ่ง เช่น ดอกกุหลาบแดง แทนความรัก สีขาวแทนความบริสุทธิ์ และนกพิราบ แทนสันติภาพ เป็นต้น
3.7 บุคคลาธิษฐาน คือ การสมมติสิ่งไม่มีชีวิต ความคิดนามธรรม หรือสัตว์ ให้มีสติปัญญา อารมณ์ หรือกิริยาอาการเยี่ยงมนุษย์  เช่น น้องอายพระจันทร์ดูท่านกำลังมอง หรืออายแก่ใจเห็นดาวยังจ้อง เป็นต้น
3.8 ปฏิปุจฉา คือ คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบเพราะทราบอยู่แล้ว (ราชบัณฑิตยสถาน 2546, หน้า 494) แต่ที่ใช้รูปประโยคคำถามก็เพื่อเป็นการเน้นให้ข้อความมีน้ำหนักดึงดูดความสนใจหรือให้ข้อคิด เช่น ใครหนอรักเราเท่าชีวิต และทำไมถึงต้องเป็นเรา เป็นต้น
                               จริง ๆ แล้ว ยังมีภาพพจน์อีกหลายประเภท แต่ที่ยกมาอธิบายในที่นี้ คือ ภาพพจน์ที่พบเห็นว่าใช้บ่อยในการเขียนต่างๆ สำหรบการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ จะพิจารณาการใช้ภาพพจน์ เช่น บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ปัญหา มักจะใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิภาคพจน์ อติพจน์ ปฏิปุจฉา และนามนัย เป็นต้น
บทความท่องเที่ยวมักจะเลือกใช้ภาพพจน์  เช่น  อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อติพจน์ และสัญลักษณ์ เป็นต้น
ส่วนบทความชนิดอื่น ๆ มักจะเลือกใช้การอุปมา  อุปลักษณ์ และปฏิปุจฉา เป็นต้น แต่บทความวิชาการมักจะไม่ใช้ภาพพจน์ในการเขียน เพราะต้องการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มากกว่าจะให้เกิดภาพหรืออรรถรส
การเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ หากต้องการสร้างอรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนควรเลือกใช้ภาพพจน์เพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิด ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น

ประเภทของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์





ประเภทของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
 บทความโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ถ้าแบ่งตามลักษณะเนื้อหา (สิริวรรณ นันทจันทูล, 2543, หน้า 124 - 128) ดังนี้
 1. บทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป
  บทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป เป็นบทความที่ผู้เขียนหยิบยกเอาปัญหาในสังคมขึ้นมาเขียน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของส่วนรวม เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  การปกครอง การศึกษา การคมนาคม การโจรกรรม ฯลฯ หรือปัญหาส่วนบุคคล เช่น การป้องกัน อาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยให้ตนเอง การประกันชีวิต เป็นต้น ขึ้นมาเขียน
  บางครั้งผู้เขียนอาจจะเขียนโต้ตอบบทความที่ผู้อื่นเขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นในแนวหนึ่งแนวใด เนื่องจากปัญหาที่มีข้อขัดแย้งมักจะมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปเป็นสองแนว ระหว่างความคิดในแนวยอมรับ และโต้แย้ง  ผู้เขียนอาจจะเลือกแสดงความคิดเห็นร่วมในแนวใดแนวหนึ่งก็ได้ หรือแสดงความคิดเห็นของคนทั่วไปในทุก ๆ ด้านก็ได้ เพื่อปล่อยให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินเอาเอง
  วิธีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปนี้ ผู้เขียนต้องเริ่มต้นด้วยการแยกแยะปัญหาให้กระจ่างชัดเสียก่อนว่าปัญหาคืออะไร วิธีแก้ปัญหามีอย่างไร ผู้เขียนเห็นชอบด้วยวิธีไหน เหตุที่ชอบ และไม่ชอบ และควรย้ำความคิดเห็นของตนให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งในตอนท้ายของบทความ   
2.  บทความสัมภาษณ์
      บทความสัมภาษณ์  เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง หรือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลนั้น หรือจากการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนในหัวข้อเดียวกัน
  ผู้เขียนบทความสัมภาษณ์ต้องรู้จักเลือกบุคคลที่จะสัมภาษณ์  รวมทั้งมีเทคนิควิธีการเขียนบทความสัมภาษณ์ ที่ช่วยให้ผู้รับสารสนใจที่จะติดตามเรื่องจนจบ ผู้เขียนไม่ควรเขียนเฉพาะเจาะจงแต่ตรงถ้อยคำที่เป็นคำถามและคำตอบเท่านั้น แต่ควรสอดแทรกบรรยากาศในขณะสัมภาษณ์ลงไปในบทความ รวมทั้งมีการคัดเลือกนำเสนอเฉพาะคำถามคำตอบที่น่าสนใจ โดยเลือกข้อความที่น่าประทับใจ ใช้เป็นโปรยของบทความ และใช้กลวิธีต่าง ๆ ในการเขียน
3.  บทความวิเคราะห์
      บทความวิเคราะห์เป็นบทความแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เผยแพร่มาแล้วอย่างละเอียด โดยแยกแยะให้เห็นส่วนต่าง ๆ ของเรื่องนั้น ผู้เขียนเสนอความคิดและวิเคราะห์เหตุการณ์เรื่องราวนั้นอย่างละเอียด แสดงข้อเท็จจริง เหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ ความคิดเห็นเพิ่มเติม เกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ประเด็นปัญหา เป็นต้น
4. บทความวิจารณ์ 
            บทความประเภทวิจารณ์ ผู้เขียนจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของเรื่องที่จะวิจารณ์อย่างถี่ถ้วน โดยอาศัยหลักวิชา เหตุผลหรือข้อเท็จจริง ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรอย่างไร บทความประเภทวิจารณ์นี้ แบ่งย่อยได้อีกหลายประเภท เช่น
  4.1 บทความวิจารณ์หนังสือ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้กว้างขวางในวิชาการหลายแขนง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคุณค่าของหนังสือ ผู้เขียนจะวิจารณ์โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวไม่ได้ ต้องอาศัยหลักวิชา หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือมากล่าวว่าดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่อย่างไร  เช่น  การวิจารณ์นวนิยายเรื่องหนึ่ง ประเด็นที่จะต้องพิจารณา คือ การใช้ภาษา โครงเรื่อง การจัดฉาก ลักษณะตัวละคร การวาดภาพตัวละคร ความสมจริงของการดำเนินเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี ท้ายสุดผู้วิจารณ์ต้องสรุปข้อคิดเห็นของตนเองว่าหนังสือเรื่องนั้น มีคุณค่าควรแก่การอ่านหรือไม่ เพียงใด
4.2 บทความวิจารณ์ข่าว ในการเขียนบทความวิจารณ์ข่าว ผู้เขียนจะต้องศึกษาที่มาของข่าว ตลอดจนผลอันเกิดขึ้นเนื่องจากข่าวนั้น แล้วนำมาเขียนวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นของตนว่าควรหรือไม่อย่างไรตามเนื้อหาของข่าว รวมทั้งแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเป็นเชิงเสนอแนะด้วย
4.3 บทความวิจารณ์การเมือง ผู้เขียนบทความวิจารณ์การเมือง จะต้องเป็นผู้ติดตามข่าวคราวให้ทันเหตุการณ์ มีความรอบรู้ทั้งการเมืองภายในและภายนอกประเทศ การเมืองในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
4.4 บทบรรณนิทัศน์ ซึ่งแสดงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ เพื่อแนะนำหนังสือ
4.5 บทวิจารณ์วรรณกรรม แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์และประเมินค่าโดยใช้หลักวิชาและเหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง
4.6 บทวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับบทวิจารณ์วรรณกรรมแต่นำผลงานที่เป็นศิลปะแขนงอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพเขียน ดนตรี มาวิจารณ์ 
5. บทความท่องเที่ยว
     บทความท่องเที่ยวจะมีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีทัศนียภาพสวยงามหรือมีความสำคัญในด้านต่าง ๆ เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ชักชวนให้สนใจไปพบเห็นสถานที่นั้น ๆ ด้วยตนเอง
     วิธีเขียนบทความท่องเที่ยวให้ดี ผู้เขียนควรจะมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเองมาก่อน กล่าวคือ ได้เคยเดินทางไปจนถึงสถานที่นั้น ๆ ได้สังเกต จดจำสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี แล้วถ่ายทอดประสบการณ์นั้น ๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือ นอกจากจะบอกข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้ว ข้อสังเกต คำแนะนำ เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ คำเตือนใจหรือข้อระวังในการปฏิบัติตนระหว่างเดินทางที่ผู้เขียนเคยได้ประสบหรือผิดพลาด จะช่วยให้เรื่องน่าอ่านยิ่งขึ้น
6. บทความกึ่งชีวประวัติ
     บทความกึ่งชีวประวัติมีลักษณะคล้ายกับบทความสัมภาษณ์ แต่แตกต่างกันในแง่ที่บทความสัมภาษณ์ต้องการแสดงข้อคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนบทความกึ่งชีวประวัตินั้นต้องการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้เน้นที่อัตชีวประวัติ กลับไปเน้นที่ความสามารถและคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าบุคคลทั่วไป ว่าเขามีวิธีการในการดำรงชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติตนอย่างไร เรื่องชีวประวัติเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา
 ข้อมูลที่เก็บมาเขียนนั้นอาจจะได้จากการสัมภาษณ์บุคคลนั้นเอง หรืออาจได้มาจากการสอบถามบุคคลแวดล้อม ซึ่งมีทั้งญาติมิตร และศัตรู ตลอดจนเอกสารและผลงานต่าง ๆ ที่เขาเคยสร้างสมไว้
  การเขียนบทความกึ่งชีวประวัติจะต้องไม่เขียนถึงเรื่องราวส่วนตัวมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นการเขียนชีวประวัติของบุคคลนั้นไป บทความกึ่งชีวประวัติเป็นการเขียนเพียงบางส่วนของชีวิตบุคคล โดยเฉพาะคุณสมบัติ หรือผลงานเด่นที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นการเขียนถึงเพื่อชื่นชม ยกย่องบุคคลเจ้าของประวัติ โดยเน้นและชี้ให้ผู้รับสารได้แง่คิด เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ
7.  บทความครบรอบปี
      บทความครบรอบปีจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ พิธีการ เทศกาล หรือวันสำคัญที่ประชาชนสนใจ  เมื่อโอกาสหรือเรื่องราวเหล่านั้นเวียนมาบรรจบครบรอบ  เช่น เดือนมกราคมมีเรื่องราวเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ วันครู วันเด็ก เดือนกุมภาพันธ์มีวันมาฆบูชา เดือนเมษายนมีวันจักรี วันอนามัยโลก วันสงกรานต์  เดือนพฤษภาคมมีวันพืชมงคล วันฉัตรมงคล  เดือนกรกฎาคมมีวัน
เข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา เดือนสิงหาคมมีวันเฉลิมพระชนมพรรษา  เดือนกันยายนมีเทศกาลสารทไทย เดือนตุลาคมมีการทอดกฐิน วันปิยมหาราช  เดือนพฤศจิกายนมีเทศกาลลอยกระทง วันสาธารณสุข และเดือนธันวาคมมีวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส วันสิ้นปี เป็นต้น
8.  บทความประเภทคำแนะนำ
     บทความประเภทคำแนะนำเป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรืออธิบายวิธีการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในการเขียนควรเลือกเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ และผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจ ตลอดจนปฏิบัติตามได้ไม่ยาก หัวข้อที่จะเลือกมาเขียนมีจำนวนมาก เช่น วิธีประดิษฐ์ของใช้ต่าง ๆ ที่ทำจากวัสดุหาง่าย ราคาย่อมเยา หรือทำจากของที่ไม่ใช้แล้ว วิธีทำพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า ทำดอกไม้ปักแจกันจากรังไหม วิธีตัดเย็บเสื้อผ้า สำหรับคนในครอบครัวเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย วิธีปรุงอาหาร วิธีรักษาทรวดทรง วิธีเลี้ยงเด็ก วิธีเย็บปักถักร้อย มารยาทการเข้าสังคม การแต่งกายให้เหมาะแก่กาลเทศะและบุคลิกภาพ เคล็ดลับการครองชีวิตคู่ และอื่น ๆ
วิธีเขียนบทความประเภทนี้ควรจะยึดหลักในการให้คำแนะนำว่า เสียค่าใช้จ่ายยิ่งน้อยยิ่งดี ไม่ต้องใช้ฝีมือสูง เป็นของที่คนส่วนมากทำได้ และทำได้สะดวก ไม่เสียเวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นมากจนเกินไป ควรบอกเคล็ดลับในการทำให้ผู้อ่านปฏิบัติตามได้ง่าย และทำได้ผลจริง ๆ นอกจากนี้ควรระวังลีลาการเขียน ถ้าเขียนแบบจริงจัง มีแต่เนื้อหาอันเป็นหลักวิชาความรู้ ก็จะกลายเป็นตำราในแนววิชานั้น ๆ บทความประเภทคำแนะนำนี้  ผู้เขียนจะอธิบายให้ความรู้หรือคำแนะนำในเรื่องทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
9.  บทความเชิงธรรมะ
      บทความเชิงธรรมะจะอธิบายข้อธรรมะให้ผู้อ่านทั่ว ๆ ไปเข้าใจได้ง่าย หรือให้คติ ให้แนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เสนอหนทางแก้ปัญหาตามแนวพุทธปรัชญา ปัจจุบันบทความลักษณะนี้มีมากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านมีแนวทางการดำเนินชีวิตในสังคมที่วิกฤตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น
10. บทความวิชาการ
   บทความวิชาการเป็นบทความที่ผู้เขียนประสงค์จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งทางวิชาการ เช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ เป็นต้น บทความวิชาการมีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ หรืออาจเสนอผลการวิจัยก็ได้
11. บทความประเภทให้แง่คิด
บทความประเภทนี้จะโน้มน้าวใจหรือกระตุ้นให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เขียนอาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือเขียนในเชิงอุปมาอุปไมยก็ได้ การเขียนเชิงอุปมาอุปไมยนั้นจะเขียนถึงสิ่งอื่นผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันโดยตลอด ข้อความทั้งเรื่องจะแทนความคิดที่ต้องการให้ผู้อื่นทราบ เช่น กล่าวถึงสัตว์ฝูงหนึ่ง แต่เดิมเคยอยู่เป็นสุขรักใคร่สามัคคีกัน ต่อมาเกิดทะเลาะวิวาทกันแยกตัวไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก ไม่ช้านักสัตว์ฝูงนั้นก็ถูกสัตว์ฝูงอื่นรักแก ล้มตายหมดสิ้น เรื่องทั้งหมดนี้เป็นการแทนความคิดของผู้เขียนที่จะใช้ชี้ให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี เรื่องที่นำมาเขียนอาจเป็นการให้แง่คิดทั่วไป   เช่น การประหยัด การทำตนเป็นพลเมืองดี ความรักชาติ เป็นต้น
จากประเภทของบทความที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น อาจสรุปเป็นบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์เพียง 2 ประเภทกว้าง ๆ เท่านั้น คือ บทความประชาสัมพันธ์เชิงสาระ (formal article) และบทความประชาสัมพันธ์เชิงปกิณกะ (informal article)
บทความประชาสัมพันธ์เชิงสาระ จะเน้นหนักไปทางวิชาการ ผู้เขียนต้องการอธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหาร หรือความเพลิดเพลินของผู้รับสาร เพราะถือว่าผู้รับสารต้องการใช้ปัญญาความคิดเพื่อให้ได้รับความรู้และความคิดเห็นจากผู้เขียน
  ในทางตรงกันข้าม บทความประชาสัมพันธ์เชิงปกิณกะ จะไม่เน้นหนักทางวิชาการ แต่จะถือว่าการให้ความรู้แก่ผู้รับสารเป็นความมุ่งหมายรอง เพราะผู้รับสารจากบทความเชิงปกิณกะจะต้องการรับข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กับการได้รับความรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินจากการรับสารนั้น ๆ ด้วย
  อย่างไรก็ตาม บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสานกันทั้งเชิงสาระและปกิณกะ กล่าวคือ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารและความสนุกสนานเพลิดเพลินไปพร้อมกัน

จุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์




จุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์จะแตกต่างจากจุดมุ่งหมายของการเขียนทั่วไป การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นการเขียนจูงใจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ เพื่อให้ได้รับความนิยม ความร่วมมือ ความเข้าใจ และการสนับสนุนจากกลุ่มคนเป้าหมาย อันจะทำให้การดำเนินงานขององค์กรหรือหน่วยงานดำเนินงานไปได้ด้วยดี มีความราบรื่น ไม่ถูกต่อต้าน จนสามารถประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์จึงมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานอยู่  6 ประการ คือ (รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ, 2546, หน้า 16 - 17)
                 1. การเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ
การเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบหรือให้เข้าใจ หมายถึง การให้ข้อมูล (information) ข้อเท็จจริง (fact) เพื่อการเผยแพร่ (publicity) ไปยังกลุ่มประชาชนเป้าหมาย ให้รับรู้ว่าหน่วยงาน องค์กร และสถาบันทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อใด ทำเพื่ออะไร ทำเพราะอะไร และทำที่ไหน เป็นต้น
ตัวอย่างการเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ เช่น
โปรแกรมข่าว : คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดทำโครงการละครเวที เรื่อง สามเศร้า...เริ่มแสดงระหว่างวันที่ 17 - 20 มกราคม 2551 เวลา 19.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น.) ณ โรงละครสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ บัตรราคา 120 บาท (หมู่คณะ 5 คน ขึ้นไป ราคา 100 บาท) สามารถหาซื้อบัตรได้ที่คณะนิเทศศาสตร์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2320-2777 ต่อ 1133, 1119, 1156 (ลินลา, 2551, หน้า 263)
                 2. การเขียนเพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับ
การเขียนเพื่อให้ประชาชนยอมรับ หมายถึง การเขียนถึงส่วนดีของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันให้เห็นชัดเจนถึงการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย สังคม และประเทศชาติ  เพื่อโน้มน้าวและชักจูงใจให้กลุ่มประชาชนเป้าหมายเชื่อถือศรัทธา จนเกิดการคล้อยตามและยอมรับในหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ๆ
ตัวอย่างการเขียนเพื่อให้ประชาชนยอมรับ เช่น
กฟผ. รักไทย ร่วมใจบริโภคข้าวกล้อง
กฟผ. ทำโครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 ทุ่มงบกว่า 70 ล้านบาท หวังกระตุ้นคนไทยบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ และเป็นการสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแบบยั่งยืนของคนไทย และช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า
โครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 เป็นอีกหนึ่งโครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้าที่ กฟผ. ดำเนินการเพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการหลอดผอม โครงการติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โครงการหลอดตะเกียบประหยัดไฟ โครงการอาคารสีเขียว โครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม...(ดวงพร อุดมทิพย์ และสุทิศา ภู่มาลา, 2542, หน้า 27)
3. การเขียนเพื่อป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด
การเขียนเพื่อป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด หมายถึง การใช้การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือทำให้กลุ่มประชาชนเป้าหมายมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อหน่วยงาน รวมทั้งต่อการดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงาน โดยไม่หลงเชื่อในข่าวลือที่อาจจะส่งผลร้ายต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน
ตัวอย่างการเขียนเพื่อป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด เช่น
 สารจากชมรมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และทางเดินอาหาร
 บางครั้งท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินคำเหล่านี้ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม และอาหารทางการแพทย์ ท่านสงสัยหรือไม่ว่าความหมายของคำเหล่านี้ต่างกันอย่างไรบ้าง
ตามท้องตลาดท่านพบผลิตภัณฑ์สารอาหารมากมาย เช่น น้ำมันปลา EPO ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกอ้างว่าเป็นอาหารเสริม แต่จริง ๆ แล้ว ให้สารอาหารไม่ครบสำหรับเรา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสารอาหารเท่านั้น ดังนั้น สารอาหารในกลุ่มนี้จึงถูกบัญญัติให้ชื่อใหม่ว่าเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขอเน้นว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ หากทานเพียงอย่างเดียวแทนที่จะเสริมชีวิต อาจเสียชีวิตได้
อาหารเสริม คือผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหาร และมีส่วนประกอบค่อนข้างครบถ้วนอยู่ภายใน ใช้บริโภคหรือเสริมเข้าไป เพื่อทดแทนอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งเราอาจได้รับเข้าไปไม่เพียงพอ ถ้าบริโภคปริมาณมากพอ จะสามารถแทนอาหารธรรมดาได้
ส่วนอาหารทางการแพทย์ คือ อาหารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อบุคคลซึ่งป่วยเป็นโรค โดยมีจุดมุ่งเน้นที่ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไต โรคปอด เป็นต้น โดยเลือกการให้อาหารสำหรับผู้ป่วย สามารถให้ทางการดื่มหรือทางสายให้อาหาร ตามสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อเป็นอาหารทดแทน หรืออาหารเสริมให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะโรค ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
อาหารทางการแพทย์ จะมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันออกไป ในแต่ละชนิดและยี่ห้อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยโรคนั้น ๆ ส่วนประกอบในอาหารทางการแพทย์อาจถูกย่อยบางส่วนมาบ้างแล้ว หรือไม่ต้องอาศัยการย่อยเลย แต่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที (สุรัตน์ โคมินทร์, 2551, หน้า 158)
4. การเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
การเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หมายถึง การนำจุดเด่นของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันมากล่าว เพื่อสร้างความเลื่อมใส โดยเลือกใช้คำและข้อความที่มีพลัง และกระตุ้นให้เกิดภาพนำมาใช้ในงานเขียน
ตัวอย่างการเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เช่น
 โปรแกรมข่าว : FM 104.75 MHz คลื่นเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อคนรุ่นใหม่ ฉลองครบรอบ 3 ปี จัดคอนเสิร์ตการกุศล เพลงดังหนังไทย โดยมอบทุนการศึกษาให้กับมูลนิธิพระดาบส ในพระบรมราชูปถัมภ์... นับเป็นคลื่นวิทยุชุมชนแห่งแรก ที่มีจุดยืนและริเริ่มในการอนุรักษ์ และสืบสานเพลงไทยสากลอันทรงคุณค่าในอดีต และเผยแพร่ให้กับคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนอนุรักษ์เพลงเก่ามาอย่างต่อเนื่อง...(ลินลา, 2551, หน้า 263)
                5. การเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี
  การเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี หมายถึง การเขียนที่มีเนื้อหามุ่งเน้นไปในการสร้างความผูกพันและมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงาน องค์กร และสถาบันกับกลุ่มประชาชนเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
  ตัวอย่างการเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี เช่น
ดิจิตอล จีเอสเอ็ม 2 วัตต์ การสื่อสารสำหรับคุณ เพื่อวันนี้และอนาคต
  พรุ่งนี้ เราจะมีเวลาให้คนที่เรารักมากขึ้น เราจะทำงานน้อยลง เทคโนโลยีจะทำให้งานล้นมือหายไปในพริบตา จะไปทุกที่ที่อยากไป จากซีกโลกสู่อีกซีกโลกได้เร็วขึ้น ได้พบประสบการณ์ใหม่ ได้เห็นโลกกว้าง และจากทุกมุมโลก เทคโนโลยีจะพาเรากลับบ้าน ได้พูดคุย หัวเราะ มีความสุขกับคนที่เรารักได้ง่าย ๆ โลกวันพรุ่งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร ระบบสื่อสารที่มั่นใจ จะยังทำให้เราใกล้กันทุกวัน (Search, 2543, หน้า 3)
                6. การเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด
 การเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด หมายถึง การเขียนเพื่อส่งเสริมให้สินค้าและบริการของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน เป็นที่ยอมรับและต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปถึงผลกำไรและเป้าหมายทางการตลาดอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ จุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทั้ง 6 ข้อข้างต้น มักจะส่งผลสนับสนุนเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแยกจากกันโดยเด็ดขาดชัดเจน ดังนั้น ในการแบ่งจุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นข้อ ๆ จึงเป็นการแบ่งในเชิงทฤษฎี เพื่ออธิบายแยกให้เห็นว่าการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์มีจุดมุ่งหมายไปในทางใด หรือเพื่ออะไรได้บ้างเท่านั้น
ตัวอย่างการเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด เช่น
 คิดสักนิดก่อนคุณจะดื่ม
คุณเคยคิดหรือไม่ว่า น้ำที่คุณดื่มปนเปื้อนไปด้วยสารคลอรีน ตะกั่ว และแม้กระทั่งปรสิต ซีสต์ เช่น คริปโตสปอริเดียม และไกอาเดีย ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม
เตรียมเกราะคุ้มกันให้ตัวคุณเองและครอบครัวที่คุณรักเสียตั้งแต่วันนี้ ความปลอดภัยที่สร้างความมั่นใจให้กับสุขภาพของคุณและครอบครัว ด้วยเครื่องกรองน้ำ นูไลฟ์ AQ4000 กับประสิทธิภาพของไส้กรองทั้ง  5 ขั้นตอน ช่วยลดปริมาณและขจัดสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
นอกจากนี้ นูไลฟ์ AQ4000 ยังมีระบบแทนที่ประจุตะกั่วด้วยประจุของโปรแตสเซียม ซึ่งอะตอมจะเสริมกระบวนการลดปริมาณของสารละลายตะกั่วลง และสร้างความสมดุลของแร่ธาตุในน้ำตามธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขที่จะส่งเสริมสุขภาพ และความสมบูรณ์ของชีวิตคุณได้อย่างสุขใจ โทร (02) 246 - 8099 (Search, 2543, หน้า 7)
 กลุ่มประชาชนเป้าหมายในการเขียน
 กลุ่มประชาชนเป้าหมาย หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า target public (บุณเณศร์ อี่ชโรจน์, 2544, หน้า 4) อาจแบ่งตามเกณฑ์ความเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเป็น 3  ประเภท คือ
                 1. กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายใน
 กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายในหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ได้แก่ กลุ่มคนที่อยู่ภายในหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น เช่น พนักงานในบริษัท ข้าราชการในหน่วยงานนั้น คุณครูและนักเรียนในโรงเรียน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย พระ ลูกศิษย์ และแม่ชีในวัด เป็นต้น     
2. กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายนอก
      กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายนอกหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน คือ กลุ่มคนภายนอกที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ๆ เช่น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ตัวแทนจำหน่าย ผู้จัดส่งสินค้า ประชาชนที่มาติดต่อ ชุมชนโดยรอบ และผู้ปกครอง เป็นต้น
3. กลุ่มประชาชนทั่วไป
กลุ่มประชาชนทั่วไป หมายถึง ผู้คนหรือประชาชนทั่วไป นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กลุ่มนี้จะไม่เกี่ยวข้องหรือผูกพันกับหน่วยงานโดยตรง แต่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานได้
                    ในการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์  จะต้องกำหนดก่อนการเขียนเสมอว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะเขียนหรือสื่อสารถึงคือใคร ซึ่งจะทำให้ผู้เขียนทราบว่า ควรจะเขียนเนื้อหาอะไร แสดงรายละเอียด และใช้สำนวนอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ประเด็นที่ใช้ในการเขียน
             การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ อาจแบ่งตามลักษณะของเนื้อหาที่นำมาใช้เขียนได้ 3 ลักษณะ คือ
                 1. เขียนถึงตัวหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
 การเขียนในลักษณะนี้ เนื้อหาที่นำมาใช้เขียน ได้แก่ นโยบาย แผน หรือการดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน
ตัวอย่างการเขียนถึงตัวหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง เช่น
มูลนิธิสันติสุข บ้านแห่งการแบ่งปัน
มูลนิธิสันติสุข เป็นหนึ่งในหลาย ๆ มูลนิธิ ที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนคลองเตย เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางส่งผ่านความช่วยเหลือ ความรัก ความห่วงใย จากผู้ที่มีจิตเมตตาไปยังเด็ก ๆ ที่ขาดแคลนโอกาส มีปัญหาครอบครัว ถูกทอดทิ้ง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองมีรายได้จำกัด ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้เปิดดำเนินการมาถึง 25 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากคุณราเคล อิฟเตอร์วิค ชาวนอร์เวย์ ที่ได้มาพบเห็นการใช้ชีวิตของเด็กในชุมชนคลองเตย และรู้สึกว่าเด็ก ๆ ยังไม่ได้รับการศึกษาและการเลี้ยงดูอย่างดีเท่าที่ควร ดังนั้นจึงได้ดำเนินการหาทุนจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแลที่ศูนย์คลองเตยแห่งนี้ 80 คนและที่ศูนย์ฉลองกรุงอีกประมาณ 250 คน...
(Baby & Kid's Digest, 2550, หน้า 80)
 2. เขียนถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการประชาสัมพันธ์
 การเขียนถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการประชาสัมพันธ์จะแตกต่างจากการเขียนในลักษณะแรก เนื่องจากเป็นการเขียนถึงกิจกรรมที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันจัดขึ้น เช่น
 ตัวอย่างการเขียนถึงกิจกรรมที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันจัดขึ้น เช่น
 ไฮ-คิว เปิดค่าย Hi - Q Tutor Camp 
 ไฮ-คิว จัดค่าย Hi - Q Tutor Camp เทรนคุณแม่ยุคใหม่ เพื่อการเตรียมความพร้อมในการพาลูกเข้าเรียนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยเน้นเนื้อหาในด้านพัฒนาการทางสมอง เพื่อเด็กจะได้มีไอคิวและอีคิวที่ดีควบคู่กันไป... โดยในค่ายจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ฐาน ได้แก่ ห้องเรียน EQ / ห้องเรียนคุณแม่ / ห้องเรียน IQ และห้องฝึกปัญญาและสมองด้วยของเล่น (บันทึกคุณแม่, 2549, หน้า 30)
                3. เขียนถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
    นักประชาสัมพันธ์สามารถนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรงมาเขียนได้ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อคนในสังคม หรือมีประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยหวังผลด้านการประชาสัมพันธ์  เช่น บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ เขียนเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำมัน และเขียนเผยแพร่ความรู้เรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ เป็นต้น
ตัวอย่างการเขียนถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง เช่น
ป่าต้องปลูกด้วยหรือ
...คือคำถามจาก ด.ช.พันธุ์หล้า บ้านหนองสังข์ เมื่อเราบอกว่า เรามาทำไมที่นี่ ด.ช.พันธุ์หล้า ก็เหมือนกับเด็กหลายๆ คนในพื้นที่ป่าของประเทศไทย ที่โตมาด้วยความคิดที่ว่า ป่าก็มีอยู่เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปปลูกไปดูแล ใครอยากได้ไม้ทำเสาเรือน เล้าหมู หรือแม้แต่ถ่านก็เข้าไปตัดเอามาได้
มาวันนี้ กล้าไม้ที่พันธุ์หล้าและพวกชาวบ้านร่วมกันปลูก ได้ตอบคำถามนั้นแทนเรา... เมื่อพายุฝนกระหน่ำหนัก เขาต้องเอาไม้รวกไปค้ำต้นกล้า พอแดดออกจัดก็ต้องหาสะแลมาบัง แล้งนักก็ต้องปักที่ดักหมอกดึงน้ำมาช่วย เพื่อให้ต้นกล้าเล็ก ๆ ของเขายืนต้นเป็นป่าใหญ่ให้ได้ พันธุ์หล้าได้คำตอบแล้วว่า ป่านั้นต้องปลูกด้วยจิตใจ การปลูกที่แท้จริง คือการดูแลเอาใจใส่...
กล้าไม้ของพันธุ์หล้าและเพื่อน ๆ เพิ่งสูงแค่ท่วมหัว แต่เราได้เห็นต้นไม้อีกต้นหนึ่ง เติบโตงอกงามขึ้นแล้ว อย่างแข็งแกร่งในใจของเขา เราเชื่อว่าต้นไม้นี้แหละไม่มีใครตัดทำลายได้ และเป็นต้นไม้ที่ทำให้ผืนป่าเมืองไทยเติบใหญ่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับ ปตท. เรายังมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะปลูกสิ่งดี ๆ เช่นนี้ บนผืนแผ่นดินไทย เพื่อคนไทยทุกคน
ปตท. พลังไทย เพื่อไทย (บุณเณศร์ อี่ชโรจน์, 2544, หน้า 8)
 ข้อแตกต่างระหว่างการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์กับการเขียนอื่น ๆ
             ความแตกต่างระหว่างงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์กับงานเขียนทั่วไป พิจารณาได้ดังนี้ (อุบลวรรณ  ปิติพัฒนะโฆษิต, 2542, หน้า 14 - 15)
                 1. พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการเขียน
 การเขียนทั่วไปเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือความรู้สึก การเขียนโดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข่าวสาร ความรู้ หรือความบันเทิง แต่การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์มีวัตถุประสงค์มากกว่านั้น คือ การสร้างการยอมรับ ความศรัทธา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานกับกลุ่มเป้าหมาย
                 2. การใช้ภาษา
  การใช้ภาษาสำหรับงานเขียนทั่วไปคำนึงถึงความไพเราะสละสลวยเป็นสำคัญ       แต่การใช้ภาษาสำหรับงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้นมุ่งเลือกสรรถ้อยคำที่มีคุณภาพในการสื่อความหมายได้ชัดเจน รวมทั้งมุ่งการโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านเห็นภาพและคล้อยตาม
                 3. ผู้เขียน
    การเขียนทั่วไปนั้นเป็นการเขียนในนามของผู้เขียนเอง แต่การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นการเขียนในนามหน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
                 4. สื่อที่เผยแพร่
    การเขียนทั่วไปนั้น เนื้อหาและลักษณะการใช้ภาษาจะเป็นตัวกำหนดว่าจะเลือกใช้สื่ออะไรในการเผยแพร่ แต่การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้น สื่อจะเป็นตัวกำหนดลักษณะการใช้ภาษาในงานเขียน เนื่องจากนักประชาสัมพันธ์จะต้องพิจารณาเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน รวมทั้งต้องพิจารณาถึงทรัพยากรสื่อและงบประมาณที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันมีประกอบด้วย
                 5. แง่มุมเนื้อหาที่นำเสนอ
   งานเขียนทั่วไป มักเสนอเนื้อหาในแง่มุมทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ แต่การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ยังคงยึดที่จะนำเสนอแง่มุมเนื้อหาในเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์สำหรับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเป็นหลัก
 ข้อแตกต่างของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์กับการเขียนเพื่อการโฆษณา
                 ไม่ว่าการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาต่างก็ถูกนำไปใช้ร่วมกันจนสับสนปนเป และทำให้ยากที่จะแยกงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ออกจากงานเขียนเพื่อการโฆษณา
  อย่างไรก็ตาม นักประชาสัมพันธ์ควรจะแยกงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ออกจากงานเขียนเพื่อการโฆษณาให้ชัดเจน
วิจิตร อาวะกุล (2534, หน้า 57) ได้แสดงข้อแตกต่างระหว่างการโฆษณากับการประชาสัมพันธ์ไว้น่าสนใจ จึงขอสรุปมาเป็นแนวทางในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างงานเขียนทั้งสองประเภท ดังนี้
                การโฆษณา จะมุ่งแสวงหากำไรโดยตรง ถ้าการเขียนชนิดใดมีเป้าหมายเพื่อการขายสินค้าและบริการ หรือมีความพยายามที่จะเขียนเพื่อเพิ่มปริมาณการขายให้กับสินค้าและบริการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นจะเป็นการเขียนเพื่อการโฆษณา ส่วนการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์จะหวังความนิยม เลื่อมใส ศรัทธา แม้จะสามารถเพิ่มผลกำไรและปริมาณการจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่บริษัทได้เช่นกัน แต่ก็เป็นการหวังผลทางอ้อมในอนาคต
                การประชาสัมพันธ์ จะแสดงออกซึ่งความปรารถนาดีต่อประชาชน มุ่งความถูกต้อง และประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งมุ่งให้ความรู้ ความเข้าใจ โดยการเขียนชี้แจง บอกกล่าว เผยแพร่แก่ประชาชนและสังคม โดยหวังผลที่จะปลูกฝังความเชื่อถือในองค์กร หวังผลมั่นคงระยะยาวและต่อเนื่อง
                กล่าวโดยสรุป ประเด็นสำคัญที่สุดในการแยกงานเขียนสองประเภทนี้ออกจากกัน จึงอยู่ที่จุดมุ่งหมายของการเขียน ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ การเขียนเพื่อการโฆษณามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สินค้าและบริการที่โฆษณาขายได้ แต่การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นการเขียนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความชื่นชอบในการกระทำดี การกระทำที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน กิจกรรมที่จัดขึ้นขององค์กร เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อองค์กร เพื่อให้ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีจากกลุ่มประชาชน เพื่อความราบรื่นในการดำเนินงาน ไม่ได้เน้นไปที่การขายสินค้าหรือบริการ
 ลำดับขั้นตอนในการออกแบบงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์
                 โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็ตาม จะต้องมีการเตรียมข้อมูลก่อนเขียน เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงลงมือเขียน และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ควรมีการตรวจทานก่อนส่งออกไปเผยแพร่ การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ได้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน (ทิพวรรณ วิระสิงห์, 2532, หน้า 21) เช่นเดียวกัน คือ
 1. ขั้นตอนการศึกษาโจทย์ เพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายของการเขียน
                    โจทย์ในการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ อาจมาจากการที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันมีประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือผู้บริหารมอบหมายโจทย์มาให้ในรูปของคำสั่ง นโยบาย หรือแผนงาน ตัวอย่างของโจทย์ เช่น เกิดข่าวลือหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหน่วยงาน ผลงานของหน่วยงานยังไม่เป็นที่รู้จัก และกลุ่มประชาชนเป้าหมายไม่ให้ความร่วมมือกับการดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน เป็นต้น
                  ในขั้นตอนนี้ นักประชาสัมพันธ์จะต้องมีความชัดเจนด้วยว่า กลุ่มประชาชนเป้าหมายที่จะเขียนถึงคือกลุ่มใด แล้วจึงกำหนดจุดมุ่งหมายของการเขียน ให้มีความสอดคล้องกับโจทย์หรือการแก้ปัญหาตามโจทย์
                 2. ขั้นตอนการออกแบบข้อความ และลงมือเขียนร่าง
                      เมื่อตัดสินใจว่าจะเขียนเรื่องใด เพื่อจุดมุ่งหมายใด และเขียนถึงใครแล้ว นักประชาสัมพันธ์ควรลงมือเขียนออกมาเป็นร่างฉบับแรก ทั้งนี้สิ่งที่นักประชาสัมพันธ์จะต้องนำมาพิจารณาในการเขียน ได้แก่
  2.1  สื่อที่จะใช้ นักประชาสัมพันธ์จะต้องรู้ว่า งานเขียนนั้นจะนำไปเผยแพร่ลงในสื่อใด เช่น การเขียนลงหนังสือพิมพ์ อาจต้องเขียนอย่างสรุปใจความ เนื่องจากหนังสือพิมพ์มีเนื้อที่ให้จำกัด แต่อาจเขียนขยายความได้มากขึ้นในสารคดีที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร เป็นต้น
  2.2  ลักษณะของกลุ่มประชาชนเป้าหมายที่จะเขียนถึง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเขียนที่ขัดแย้งกับกลุ่มประชาชนเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อ และทัศนคติ เป็นต้น
 2.3 นโยบาย การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ดีควรจะสนับสนุนนโยบายของผู้บริหารและนโยบายของหนวยงาน องค์กร และสถาบัน นักประชาสัมพันธ์จึงควรมีความเข้าใจต่อนโยบายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอย่างชัดเจน
             3. ขั้นตอนการตรวจทาน และทำให้สละสลวย
                  เมื่อเขียนร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องตรวจทานทั้งหมดอีกครั้ง สิ่งที่ควรตรวจทาน เช่น ความถูกต้องของเนื้อหา ตัวสะกด การแบ่งย่อหน้าและวรรคตอน สำนวนที่ใช้  การจัดระเบียบและความต่อเนื่องของเนื้อหา โดยอาจจะดูในภาพรวมว่าอ่านแล้วเข้าใจง่ายหรือไม่  เขียนได้ชัดเจนและตรงตามจุดมุ่งหมายหรือยัง เป็นต้น
 สรุป             
นักประชาสัมพันธ์ต้องมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบแบบแผนของภาษาและการเขียน เนื่องจากจะต้องใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดและสื่อความคิด
ภาษามีระดับชั้นตามความแตกต่างของหมู่ชนในสังคม โดยทั่วไปจะแบ่งภาษาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ภาษาปาก ภาษากึ่งแบบแผน และภาษาแบบแผน การเลือกใช้ระดับของภาษาที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อการสื่อสาร
การเขียนเป็นทักษะที่มีความสำคัญในการสื่อสาร และมีวัตถุประสงค์ทั่วไป 3 ประการ คือ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ความบันเทิง และเพื่อโน้มน้าวใจ ผู้เขียนจึงต้องฝึกฝนการเขียน และโวหารต่าง ๆ ได้แก่ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหาร และอุปมาโวหาร
                การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์มีจุดมุ่งหมาย 6 ประการ คือ การเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ การเขียนเพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับ การเขียนเพื่อป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด การเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี และการเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด
                กลุ่มประชาชนเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายใน กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายนอก และกลุ่มประชาชนทั่วไป
                ประเด็นที่ใช้ในการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ แบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ เขียนถึงหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง เขียนถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ และเขียนถึงเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
                ความแตกต่างระหว่างงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์กับงานเขียนทั่วไป พิจารณาได้จากวัตถุประสงค์ของการเขียน การใช้ภาษา ผู้เขียน สื่อที่เผยแพร่ และแง่มุมเนื้อหาที่นำเสนอ ทั้งนี้ข้อแตกต่างระหว่างการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์กับการเขียนเพื่อการโฆษณาจะอยู่ที่จุดมุ่งหมายของการเขียน
                การออกแบบการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์มี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นของการศึกษาโจทย์ ขั้นของการออกแบบข้อความและลงมือเขียนร่าง   และขั้นของการตรวจทานและทำให้สละสลวย