วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์

 การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์         

             สารคดีเป็นงานเขียนรูปแบบหนึ่งที่สามารถให้ความรู้ต่าง ๆ โดยไม่จำกัดแก่ผู้สนใจ ทั้งเป็นการให้สาระความรู้ที่ให้ความเพลิดเพลินในการอ่านพร้อม ๆ กันไป ไม่เคร่งเครียดเคร่งขรึมเช่นตำราวิชาการ จึงเหมาะที่จะนำมาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถเผยแพร่ได้ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ

              ความหมายของสารคดี
 ความหมายของสารคดี มีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ให้ความหมายไว้หลายท่าน มีใจความต่างกันบ้างคล้ายกันบ้าง อาทิ
บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2543, หน้า 9) กล่าวว่า สารคดี หมายถึง งานเขียนหรือวรรณกรรมที่ผู้แต่งเจตนาให้ความรู้เป็นเบื้องต้น ความเพลิดเพลินเป็นเบื้องหลัง และไม่นับเอกสารหรือหนังสือที่เขียนเป็นวิทยาการโดยตรง ที่ผู้แต่งมีความจำนงเรียบเรียงขึ้น เพื่อประโยชน์แก่คนในวิชาชีพยิ่งกว่าที่จะมีเจตนาอย่างอื่น
รื่นฤทัย สัจจพันธ์ (2543, หน้า 6) กล่าวว่า สารคดี หมายถึง หนังสือที่มีเนื้อหาสาระและมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ความคิดแก่ผู้อ่าน ในขณะเดียวกันก็ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ด้วยความสามารถในการใช้ภาษาร้อยแก้วที่สละสลวยของผู้แต่ง
มาลี บุญศิริพันธ์ (2539, หน้า 7) ได้อธิบายไว้ว่า "คำว่า สารคดี" มาจากคำภาษาอังกฤษว่า feature ซึ่งหมายถึงข้อเขียนที่เป็นเรื่องจริง เมื่อแปลความหมายจากศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ non-fiction นั้น จะเห็นว่ามีความหมายกว้างมาก กล่าวคืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องจริงนั้นถือว่าเป็นสารคดีในการกำหนดความหมายอย่างกว้างขวางนี้ทำให้เกิดความสับสนพอสมควรสำหรับผู้สนใจเขียนสารคดี ดังนั้นนักวิชาการทางด้านสื่อมวลชนหลายคน พยายามพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงความหมายที่แน่นอนมากขึ้น
ถวัลย์ มาศจรัส (2544, หน้า 72) กล่าวว่า สารคดี คือ งานเขียนที่ยึดถือเรื่องราวจากความเป็นจริงนำมาเขียน เพื่อมุ่งแสดงความรู้ ความจริงเป็นหลัก ด้วยการจัดระเบียบความคิดในการนำเสนอผสมผสานในการถ่ายทอดต่อการสนใจใฝ่รู้ของผู้อ่าน เพื่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญา
วนิดา บำรุงไทย (2545, หน้า 9) กล่าวว่า สารคดี คือ เรื่องสร้างสรรค์ บางครั้งมีความเป็นอัตวิสัย เป็นข้อเขียนที่มุ่งให้ความบันเทิงอละให้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์หรือแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจแก่ผู้อ่าน
โลบาน และโอมสเตต (Loban & Olmsted, 1963, p. 183) กล่าวว่า สารคดี คือเรื่องที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริงและเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นจริง
บราวน์ (Browne, 1970, p. 10) กล่าวว่า สารคดี คือ เรื่องที่เขียนเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอันเกิดจากประสบการณ์ การค้นคว้า และการสอบสวน
จากนิยามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด หากจะให้ความหมายอย่างกว้าง ๆ ของสารคดี สารคดีจะหมายถึงข้อเขียน หรือความเรียง หรือวรรณกรรม หรือหนังสือที่เขียนเป็นประเภทร้อยแก้ว (pose) เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องที่นำมาเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวที่เป็นความจริง บุคคลในเรื่องต้องมีตัวตนจริง สถานที่ที่เขียนถึงมีจริง เหตุการณ์ที่นำมาเขียนเกิดขึ้นเป็นไปตามนั้นจริง มีหลักฐานที่นำมาอ้างอิงได้ เช่น ภาพถ่าย นอกจากหลักฐานระบุแหล่งที่มาแล้ว ถ้าจะอ้างถึงทฤษฏีหรือหลักการใด ๆ ทฤษฏีและหลักการนั้นจะต้องพิสูจน์ได้ตรงกับความเป็นจริง แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนลำดับความขั้นตอนเป็นเนื้อหาสารคดี โดยมีสาระจุดมุ่งหมาย ที่จะให้ความรู้ และข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน ในขณะเดียวกันจะต้องแทรกส่วนประกอบ คือความบันเทิงให้แก่ผู้อ่านด้วย โดยใช้จินตนาการเข้าช่วยเขียนแทรกในบางตอน เพื่อช่วยให้การดำเนินเรื่องเป็นที่น่าอ่าน เนื่องจากสารคดีมิใช่ตำราทางวิชาการโดยตรง แต่เป็นวรรณกรรมที่ผู้แต่งมีเจตนาจะให้ผู้อ่านได้ใช้สติปัญญา พิจารณาสาระ ความรู้ ข้อคิดเห็นของผู้เขียนจากการอ่านในเนื้อหา ฉะนั้นถ้ามีความบันเทิงแทรกบ้างจะช่วยให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้ สาระ และความบันเทิงเพลิดเพลินไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ถ้าจะย่อความหมายของสารคดีเป็นใจความสั้น ๆ สารคดี ก็คือการเขียนทุกอย่างที่นำข้อมูลมาจากความจริงพร้อมหลักฐานอ้างอิงประกอบ มีการแทรกคารมให้ผู้อ่านได้รับทั้งสารประโยชน์ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์
กล่าวโดยสรุป สารคดีจึงหมายถึง งานเขียนหรือวรรณกรรมที่ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเสนอสาระที่เป็นจริงตามข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ที่ปรากฎขึ้นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความคิด ความกระจ่าง แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็จะต้องสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างมีศิลปะมีวิธีการเสนอเรื่องให้เกิดรส เสมือนหนึ่งผู้อ่านมีส่วนร่วมรู้ในเรื่องหรือเหตุการณ์นั้น ๆ จนก่อให้เกิดความบันเทิงใจหรือความประทับใจ
 จุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์
 การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์มีจุดมุ่งหมาย (ชลอ รอดลอย, 2544, 15) ดังนี้
1. เพื่อเสนอข่าวสารและข้อเท็จจริง
การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข่าวสารหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดในบางสิ่งบางอย่างมากกว่าที่จะมีในข่าวแจก เนื่องจากเนื้อที่ในการนำเสนอข่าวแจกของสื่อมวลชนจะมีจำกัด แต่ถ้าเขียนให้มีรูปแบบของสารคดีจะเพิ่มความยาวของเนื้อหาได้มากขึ้น นอกจากนั้นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่นำมาเขียนเป็นสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์อาจจะเกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้น และผู้เขียนนำมาเล่าจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนศึกษาค้นคว้า รวบรวมมา หรือประสบด้วยตนเอง หรือได้รับการบอกเล่าโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ผู้เขียนก็สามารถจะนำมาเรียบเรียง หรือเล่าในงานเขียนประเภทสารคดีได้ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
2. เพื่อเสนอความคิดเห็นและให้คำแนะนำ 
     แม้ว่าในการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์จะมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอความรู้และสาระต่าง ๆ เป็นหลัก แต่สารคดีก็สามารถนำเสนอความคิดเห็นและให้คำแนะนำเป็นจุดมุ่งหมายประกอบได้ ดังนั้น การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์บางเรื่องจึงมีความประสงค์ที่จะเสนอแนะให้ผู้อ่านได้รับทราบและช่วยกันปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน องค์กร สถาบัน บ้านเมือง สังคมหรือส่วนรวม รวมทั้งเป็นการให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการนำไปปฏิบัติได้จริง
3. เพื่อให้ความรู้ 
     ความรู้ที่นำเสนอผ่านงานเขียนประเภทสารคดีอาจเป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชา เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือภาษาศาสตร์ หรือจะเป็นความรู้โดยทั่ว ๆ ไป รวมทั้งความรู้ในเรื่องของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต้องการจะเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนพลอย ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น      
4.  เพื่อให้ความเพลิดเพลิน 
  การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด บางครั้งผู้เขียนอาจเลือกเรื่องที่นำมาเขียน ให้เป็นสารคดีที่ไม่มีสาระวิชาการมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งสนองความต้องการของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนานไปกับเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้สาระความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นด้วย เช่น สารคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะนำชมสถานที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ สวย ๆ งาม ๆ โดยมีการพรรณนาความงามของธรรมชาติ ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น