วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์





ขั้นตอนการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
ในการเขียนงานเขียนต่าง ๆ และการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถดำเนินการ 7 ขั้นตอน ตามลำดับ (นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และคณะ, 2532, หน้า 13 - 19) ดังนี้ 
1.  การเลือกเรื่องที่จะเขียน
       การเลือกเรื่อง ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.1 เลือกเรื่องที่ตนเองและคนส่วนใหญ่กำลังสนใจ ทันสมัย ทันเหตุการณ์
1.2 เลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้ มีประสบการณ์ ตลอดจนเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการ
เขียน เพื่อเสนอความคิดเห็นแก่ผู้รับสาร
1.3 เลือกเรื่องที่ผู้เขียนสามารถหาแหล่งค้นคว้า หรือหาข้อมูลมาเขียนได้
1.4 เลือกเรื่องที่มีความยาว ความยาก ความง่าย พอเหมาะกับความสามารถของ
ผู้เขียน รวมทั้งเลือกให้เหมาะสมกับเวลาที่ได้รับมอบหมาย เหมาะสมกับจำนวนหน้ากระดาษ และเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่ผู้เขียนสังกัด
2. กำหนดจุดมุ่งหมายในการเขียน 
 ผู้เขียนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนบทความครั้งนี้เพื่ออะไร และเขียนให้ใครอ่าน เช่น ให้ความรู้ เสนอความเห็น โน้มน้าวใจ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เขียนให้ใครอ่าน เช่น กลุ่มมวลชน กลุ่มผู้มีการศึกษาสูง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เป็นต้น
3.  กำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นเรื่อง 
      ผู้เขียนต้องกำหนดว่าบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้จะเสนอแนวคิดสำคัญ หรือมีแก่นเรื่องอะไรให้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดถ้อยคำ ประโยคต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น
4.  ประมวลความรู้ความคิด 
ก่อนเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ ผู้เขียนจะต้องรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นรายละเอียดในการเขียน โดยการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลให้เพียงพอที่จะเขียน  ซึ่งข้อมูลสามารถหาได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากการสัมภาษณ์ การซักถามสอบถามผู้รู้ จากการสืบเสาะว่าที่ใดมีอะไรบ้าง ไปดูสถานที่ ไปพบบุคคล ไปดูเหตุการณ์ ดูการกระทำ จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ จากหนังสือต่าง ๆ จากบุคคลต่าง ๆ โดยเริ่มจากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรา จากการเดินทางท่องเที่ยว จากปฏิทินในรอบปี ซึ่งมีเทศกาลมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่พระราชพิธีจนถึงงานต่าง ๆ จากวงการและสถาบันต่าง ๆ และจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
5. วางโครงเรื่อง 
     การวางโครงเรื่อง คือ การกำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญแยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ อะไร จะมีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้ง่าย และเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่สับสน วกวน และไม่เขียนออกนอกเรื่อง
6.  การเขียน
      เมื่อได้โครงเรื่องแล้ว จะต้องลงมือเขียน ดังนี้
                                6.1 เขียนขยายความให้ข้อมูลในแต่ละประเด็น มีการอธิบาย ยกเหตุผลประกอบ ข้อมูลประกอบอาจเป็นสถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ ตำนาน นิทาน เป็นต้น
                                6.2 เขียนคำนำและสรุปด้วยกลวิธีที่เหมาะสมกับประเภทของเนื้อหาบทความ
                                6.3 การใช้ภาษาควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของการเขียน และประเภทของบทความ
                                6.4 ควรสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว ซึ่งสามารถสร้างลีลาการเขียนได้หลายวิธี เช่น สร้างโดยการเลือกใช้ภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ การเล่นคารมโวหาร การเขียนแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน หรือมีการสร้างคำใหม่ ๆ มาใช้อยู่เสมอ ๆ เป็นต้น
7. การตรวจทาน
    เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ถ้ามีเวลาเพียงพอ อาจเก็บไว้สักสองสามวัน แล้วนำมาอ่านตรวจทาน พิจารณาอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาทางทำให้ดีขึ้น หรือให้ผู้รู้อ่านวิจารณ์ด้วย เพื่อจะได้นำความคิดเห็นนั้นมาปรับปรุง บทความจะได้สมบูรณ์มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น