วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์






โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
โครงสร้างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ ชื่อเรื่อง  คำนำ  เนื้อเรื่อง และสรุป   
1. ชื่อเรื่อง
 ชื่อเรื่องนับว่าเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะอ่านก่อนเสมอ ดังนั้นจะต้องเลือกคำ หรือข้อความ ที่สามารถคุมประเด็นให้ดีที่สุด ชวนให้อยากอ่านเนื้อหาในบทความนั้น ๆ
วิธีตั้งชื่อเรื่องของบทความมีหลายแบบ เช่น การตั้งชื่อเรื่องตามเนื้อหาสาระ  การตั้งชื่อเรื่องเป็นคำถาม การตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำที่มีความหมายขัดแย้ง การตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำพังเพย สุภาษิต คำคล้องจอง และการตั้งชื่อเรื่องทำนองชักชวนให้ปฏิบัติตาม เป็นต้น
2. คำนำ
 คำนำเป็นการเกริ่นบอกกล่าวให้รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร การขึ้นคำนำอาจจะกล่าวถึงเรื่องทั่วไปก่อนที่จะวกเข้าเรื่องที่จะเขียน หรืออาจจะกล่าวเจาะจงลงไปตรงกับหัวเรื่องที่จะเขียนเลยทีเดียวก็ได้ การเขียนคำนำ ต้องให้น่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านนิยมอ่านย่อหน้าแรกก่อน ถ้าเขียนคำนำได้น่าอ่าน ย่อมจะชวนให้ติดตามอ่านจนจบ
 คำนำเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดส่วนหนึ่ง กล่าวคือ คำนำเป็นส่วนที่อยู่ตอนต้นเรื่อง แต่ถ้าเขียนได้แล้วก็จะช่วยให้เขียนเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ คำนำยังเป็นส่วนแรกของการเขียน จึงถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการจูงใจผู้อ่านให้ติดตามเรื่องต่อไปจนจบได้ถ้าผู้เขียนเขียนคำนำได้ดี วิธีการเขียนคำนำมีหลายแบบ เช่น
2. 1 นำด้วยข่าว คำนำที่นำด้วยข่าว เป็นความนำที่ใช้กับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความคิดในเรื่องที่จะเขียน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการนำเหตุการณ์ที่กำลังเป็นสิ่งที่น่าสนใจในขณะนั้นมานำก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่จะเขียน
2.2 นำด้วยการอธิบาย คำนำที่นำด้วยการอธิบาย เป็นการนำด้วยการเริ่มเรื่องอย่างตรงไปตรงมา โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของเรื่องให้ผู้อ่านได้รู้ทันทีว่าผู้เขียนต้องการเสนอสาระเรื่องใดแก่ผู้อ่าน
2.3 นำด้วยคำถาม  คำนำด้วยคำถามเป็นความนำที่หยิบถ้อยความเพื่อกระตุ้นผู้อ่าน โดยใช้วิธีการตั้งคำถาม เช่น " คุณรู้ไหมว่าเจ้าดอกไม้สีขาวดอกเล็ก ๆ  ที่มีเกสรสีเหลืองสดใสนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว"  (รักลูก, 2546, หน้า 9)
2.4 นำด้วยการสรุปใจความสำคัญของเรื่อง การนำใจความสำคัญของเรื่องมาสรุปประเด็นสำคัญไว้ในส่วนคำนำจะทำให้ผู้อ่านทราบทันทีว่าผู้เขียนจะกล่าวถึงเรื่องอะไรในส่วนของเนื้อหาต่อไป
2.5 นำด้วยสุภาษิต คำคม บทกวี การนำสุภาษิต คำคม บทกวี มาใช้เป็นคำนำ จะต้องเลือกสุภาษิต คำคม บทกวี ที่มีความหมายสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
3. เนื้อเรื่อง
 เนื้อเรื่องอาจแบ่งเป็น  2  ส่วนใหญ่ ๆ  คือ  ส่วนแรกเป็นการขยายความเมื่อเกริ่นในคำนำแล้วผู้อ่านยังติดตามความคิดได้ไม่ดีพอก็ต้องขยายความออกไป เพื่อช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น ส่วนที่สองเป็นรายละเอียด มีการให้สถิติ รวบรวมข้อมูล การเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างประกอบ แต่ต้องระวัง อย่าให้มากเกินไปจนน่าเบื่อ
  การเขียนเนื้อเรื่อง  เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นส่วนที่ยาวที่สุด รวมความคิดและข้อมูลทั้งหมด ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในเนื้อเรื่องจะต้องสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน มีลำดับขั้นตอนไม่วกวนไปมา ก่อนที่จะเขียนบทความผู้เขียนจึงต้องหาข้อมูล หาความรู้ที่จะนำมาเขียนเสียก่อน การหาข้อมูลนั้นอาจได้จากการสัมภาษณ์ การสอบถามผู้รู้ การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านหนังสือพิมพ์หรือหนังสือต่าง ๆ ในการเขียนเนื้อเรื่องควรคำนึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
 3.1 ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามความหมาย ใช้ตัวสะกดถูกต้องตามพจนานุกรม
 3.2 ใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเรื่อง เช่น ใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการ ใช้ศัพท์เฉพาะในการเขียนบทความทางวิชาการ ใช้ถ้อยคำที่ดึงเป็นภาษาปาก คำแสลง ในการเขียนบทความทั่วไป
 3.3 มีข้อมูล เหตุผล สถิติและการอ้างอิงประกอบเรื่อง เพื่อให้เรื่องอ่านเข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือ
4. สรุป
     สรุปเป็นส่วนที่แสดงทัศนะข้อคิดเห็นของผู้เขียน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่มีด้วย   การเขียนบทความในส่วนสรุปหรือคำลงท้ายจึงเป็นส่วนที่ผู้เขียนต้องการบอกให้ผู้อื่นทราบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เสนอมาได้จบลงแล้ว ผู้เขียนควรมีกลวิธีที่จะทำให้ผู้อ่านพอใจ ประทับใจ ส่วนสรุปนี้เป็นส่วนที่ฝากความคิดและปัญหาไว้กับผู้อ่านหลังจากที่อ่านแล้ว การเขียนสรุปหรือคำลงท้ายมีหลายแบบ เช่น สรุปด้วยคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบ
สรุปด้วยการแสดงความประสงค์ของผู้เขียน สรุปด้วยใจความสำคัญ สรุปด้วยการใช้คำกล่าว คำคม บทกวี และสรุปด้วยการเล่นคำ เป็นต้น
 การใช้ภาษาในการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์
การใช้ภาษาในการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.  ระดับภาษา
การเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ควรพิจารณาใช้ระดับภาษาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ ภาษาปาก ภาษาไม่เป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ และภาษาทางการ โดยผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ประเภทของบทความ เนื้อหา และกลุ่มผู้อ่านเช่น กรณีที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป  บทความวิเคราะห์ข่าว  บทความวิเคราะห์ ควรใช้
ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ จนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนระดับกึ่งทางการ หากมีบางตอนหรือบางข้อความที่ต้องการแสดงอารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม อย่างชัดเจน อาจจะใช้ภาษาพูดระดับภาษาปาก ที่ไม่หยาบคายก็ได้
กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป บทความสารคดีท่องเที่ยว ควรใช้ภาษาพูดในระดับภาษาปาก เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองกับผู้อ่าน จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำ หรืออาจจะใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทความ และกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย
กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ ควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์ และเรื่องราวที่สัมภาษณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนจึงสามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตั้งแต่ ภาษาพูดระดับภาษาปาก จนถึงภาษาเขียนระดับทางการ
กรณีเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ ซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่งานวรรณกรรมหรือศิลปะ จึงควรใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ จนถึงภาษาในระดับทางการ
กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ และเชิงวิชาการ ควรใช้ภาษาเขียนกึ่งทางการจนถึงระดับทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนต้องการสร้างเอกลักษณ์ หรือลีลาการเขียนเฉพาะตน ก็สามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตามความต้องการของตนเอง โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเป็นหลักด้วย เช่น ภาษาที่เป็นระดับทางการจะสร้างความรู้สึกน่าเชื่อถือ เป็นงานเป็นการ แต่ภาษาปาก และภาษาระดับที่ไม่เป็นทางการจะให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ใกล้ชิด สนิทสนมเป็นกันเอง แต่อาจดูไม่ค่อยสุภาพได้ เป็นต้น 
2.  โวหาร
  กรณีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา ควรใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก โดยมีโวหารอื่น ๆ ประกอบ เช่น อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น เพื่อแสดงเหตุผลโน้มน้าวใจผู้อ่าน
 กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก และมีโวหารอื่น ๆ ประกอบ ได้แก่ สาธกโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจน แจ่มแจ้ง
 กรณีเขียนบทความสารคดีท่องเที่ยว บางตอนควรเลือกใช้พรรณนาโวหาร เพื่อให้เห็นความงดงามของทัศนียภาพ นอกเหนือจากการใช้บรรยายโวหารแล้ว ควรใช้โวหารอื่น ๆ ประกอบได้แก่ อุปมาโวหาร สาธกโวหาร กรณีที่ต้องการเล่าเกร็ดความรู้ ตำนาน นิทานต่าง ๆ ประกอบสถานที่ เป็นต้น
 กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ บทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ  บทความวิชาการ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบอื่นที่ควรนำมาใช้ คือ สาธกโวหาร
   กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบอื่น ๆ ได้แก่ เทศนาโวหาร อุปมาโวหาร และสาธกโวหาร
3. ภาพพจน์
  การเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ หากต้องการสร้างอรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนอาจจะต้องเลือกนำการใช้ภาพพจน์มาเพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิดและจินตนาการ ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน
 ภาพพจน์ (Figure of speech) คือ สำนวนภาษารูปแบบหนึ่งเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำนวนเปรียบเทียบ เกิดจากการเปรียบเทียบของถ้อยคำด้วยวิธีการต่างๆ ให้ผิดแผกไปจากการเรียงลำดับคำ หรือความหมายตามปรกติ เพื่อให้เกิดภาพ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 616) หรือให้มีความหมายโดยนัย หรืออาจเป็นการใช้ภาษาเชิงเปรียบเทียบ โดยนำสิ่งที่ไม่เหมือนกันมาเปรียบเทียบกันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อมุ่งให้เกิดรสของถ้อยความเป็นสำคัญ
                            การใช้ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม
   ภาพพจน์ที่นิยมนำมาใช้ในงานเขียนต่าง ๆ เช่น
  3.1 อุปมา คือ การนำของ 2 สิ่ง หรือความคิด 2 อย่างมาวางเทียบกัน แล้วเชื่อมด้วยคำประเภทที่มีความหมายว่า "เหมือน" หรือ "ใกล้เคียง" เช่น เหมือน คล้าย เท่า เทียม เทียบ ทาน พาง ฟาง เพียง เพี้ยง เล่ห์ ประเหล ดุจ ประดุจ ถนัด หนึ่ง ประหนึ่ง ดัง ดั่ง เฉก เช่น ฉัน เปรียบ ปาน ปูน ราว (กับ) กล (กะ) เยี่ยง อย่าง อย่างกับ (ยังกับ) ฉันใด...ฉันนั้น อย่างไร...อย่างนั้น รวมทั้งคำว่า กว่า ด้วย หรือนำคำเชื่อมจำพวกนี้มาซ้อนกัน เช่น คนอะไรตัวใหญ่อย่างกับช้าง หรือ เธอตัวเล็กกว่าภูเขานิดเดียว เป็นต้น
   3.2 อุปลักษณ์ คือ ภาพพจน์ที่นำเอาสิ่งที่ต่างกัน 2 สิ่งหรือมากกว่า แต่มีคุณสมบัติบางประการร่วมกัน มาเปรียบเทียบกัน โดยเปรียบว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งโดยตรง อีกนัยหนึ่งคือการเปรียบโดยนัยโดยใช้คำว่า เป็น หรือ คือ ที่ไม่ได้แสดงนิยม และไม่ได้แปลว่า "เหมือน" อย่างในข้อ 3.1 มาเชื่อม เช่น ลูกเป็นแก้วตาดวงใจของเขา หรือเธอคือแสงสว่างในชีวิตฉัน  เป็นต้น
3.3 ปฏิภาคพจน์ หรือ ปฏิทรรศน์ คือ คำกล่าวที่มองอย่างผิวเผินแล้วจะขัดกันเองหรือไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเป็นคำกล่าวที่มีความหมายลึกซึ้งและเป็นไปได้  ปฏิทรรศน์มักอยู่ในรูปของประโยคหรือข้อความที่แสดงความขัดแย้งกัน อย่างเมื่อเหตุการณ์หนึ่งแล้วก่อให้เกิดอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แย้งกัน เช่น น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย ยิ่งเร่งยิ่งช้า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ หรือศัตรูคือยากำลัง เป็นต้น
3.4 อติพจน์ คือ คือการกล่าวเกินจริงเพื่อเน้นความรู้สึก บางตำราเรียกว่า overstatement กล่าวว่า อติพจน์ คือ ภาพพจน์ซึ่งมีข้อความที่กล่าวให้เกินจริงสำหรับเน้นข้อความ อีกนัยหนึ่งคือการกล่าวเปรียบเทียบโดยใช้ถ้อยคำเกินจริง เป็นการเน้นให้เกิดความรู้สึก ในภาษาไทยนิยมใช้กันมากทั้งในภาษาวรรณคดีและภาษาปาก จนเกิดเป็นสำนวนทั้งเก่าและใหม่ที่ใช้กันจนติดปากในชีวิตประจำวัน เช่น คอยตั้งโกฏิปี คุยกันด้วยเรื่องร้อยแปด ชาติหน้าตอนบ่ายๆ เที่ยวร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ นั่งจนรากงอก รักเท่าฟ้า ยิงกันหูดับตับไหม้ และหิวไส้จะขาด เป็นต้น
   3.5 นามนัย หรืออธินามนัย กล่าวว่า คือ ภาพพจน์ที่ใช้คำหรือสิ่งซึ่งบ่งคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทนสิ่งนั้น ทั้งหมดแต่โดยทั่วไปนามนัยมีความหมายมากกว่านั้น และใช้หมายถึงภาพพจน์ที่สิ่งหนึ่งถูกเรียกด้วยชื่อของอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงหรือ ชวนให้คิดถึงต่อไปนี้ เช่น มืออ่อน มือแข็ง (มือแทนการไหว้) ลิ้นแข็ง (ลิ้นแทนภาษา) ลูกหนัง (ลูกฟุตบอล) หรือ ลูกสักหลาด (ลูกเทนนิส) เป็นต้น
   3.6 สัญลักษณ์ อาจหมายถึงภาพพจน์หรือไม่ใช่ก็ได้ สัญลักษณ์ที่เห็นกันส่วนใหญ่มักเป็นภาพหรือเครื่องหมายที่แสดงไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น เครื่องหมายจราจร สัญลักษณ์แบบนี้ไม่ใช่ภาพพจน์
สัญลักษณ์ในความหมายที่เป็นภาพพจน์ คือภาพพจน์ชนิดหนึ่งที่มีความคลี่คลายมาจากนามนัย ซึ่งเมื่อใช้กันจนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็กลายเป็นสัญลักษณ์ กล่าวว่า สัญลักษณ์คือ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตซึ่งเป็นตัวแทนหรือสิ่งแทนของอีกสิ่งหนึ่ง โดยอีกสิ่งหนึ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือความคิดที่เป็นนามธรรมก็ได้
                สัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปมีมากมาย บางครั้งก็มีความหมายเป็นกลางรับรู้กันทั่วโลก บางครั้งก็รับรู้กันเฉพาะในสังคมใดสังคมหนึ่ง เช่น ดอกกุหลาบแดง แทนความรัก สีขาวแทนความบริสุทธิ์ และนกพิราบ แทนสันติภาพ เป็นต้น
3.7 บุคคลาธิษฐาน คือ การสมมติสิ่งไม่มีชีวิต ความคิดนามธรรม หรือสัตว์ ให้มีสติปัญญา อารมณ์ หรือกิริยาอาการเยี่ยงมนุษย์  เช่น น้องอายพระจันทร์ดูท่านกำลังมอง หรืออายแก่ใจเห็นดาวยังจ้อง เป็นต้น
3.8 ปฏิปุจฉา คือ คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบเพราะทราบอยู่แล้ว (ราชบัณฑิตยสถาน 2546, หน้า 494) แต่ที่ใช้รูปประโยคคำถามก็เพื่อเป็นการเน้นให้ข้อความมีน้ำหนักดึงดูดความสนใจหรือให้ข้อคิด เช่น ใครหนอรักเราเท่าชีวิต และทำไมถึงต้องเป็นเรา เป็นต้น
                               จริง ๆ แล้ว ยังมีภาพพจน์อีกหลายประเภท แต่ที่ยกมาอธิบายในที่นี้ คือ ภาพพจน์ที่พบเห็นว่าใช้บ่อยในการเขียนต่างๆ สำหรบการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ จะพิจารณาการใช้ภาพพจน์ เช่น บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ปัญหา มักจะใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิภาคพจน์ อติพจน์ ปฏิปุจฉา และนามนัย เป็นต้น
บทความท่องเที่ยวมักจะเลือกใช้ภาพพจน์  เช่น  อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อติพจน์ และสัญลักษณ์ เป็นต้น
ส่วนบทความชนิดอื่น ๆ มักจะเลือกใช้การอุปมา  อุปลักษณ์ และปฏิปุจฉา เป็นต้น แต่บทความวิชาการมักจะไม่ใช้ภาพพจน์ในการเขียน เพราะต้องการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มากกว่าจะให้เกิดภาพหรืออรรถรส
การเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ หากต้องการสร้างอรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนควรเลือกใช้ภาพพจน์เพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิด ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น